การจัดฟันเด็กจำเป็นหรือไม่ ? คำตอบคือบางกรณีก็ไม่จำเป็น แต่ในบางกรณีก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการรักษาตั้งแต่ยังเด็ก โดยทันตแพทย์จะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา
1. การจัดฟันเพื่อลดความรุนแรงของปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเช่นกรณีของเด็กที่มีฟันสบคร่อมผิดปกติเด็กอาจมีการเยื้องขากรรไกรเพื่อไม่ให้ฟันชนกัน รวมไปถึงเพื่อการบดเคี้ยวที่สะดวก ซึ่งมีผลให้ขากรรไกรยื่นออกมาผิดรูปหรือหน้าเบี้ยวได้
2. การจัดฟันเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเช่นกรณีของเด็กที่มีฟันหน้าบนยื่นมาก เมื่อเด็กล้ม ชน หรือกระแทกสิ่งต่างๆ มีโอกาสทำให้ฟันหน้าแตกหักหรือเป็นอันตรายมากขึ้น
3. กรณีสุดท้ายที่ทันตแพทย์จะพิจารณาการจัดฟันเด็ก คือกรณีที่เด็กคิดว่าอยากจะจัดฟัน ไม่ว่าจะเนื่องจากโดนเพื่อนล้อหรือว่ารู้สึกเองว่าต้องจัดฟัน ซึ่งกรณีนี้อาจไม่ได้มีความจำเป็นในทางการแพทย์มากเท่ากับการสร้างรากฐานความมั่นใจที่จะส่งผลต่อบุคลิกและพัฒนาการของเด็กต่อเนื่องไปจนโต
ความเข้าใจผิดเรื่องการจัดฟัน
1. รอให้ฟันแท้ขึ้นครบก่อนแล้วค่อยจัดฟันทีเดียว โดยทั่วไปแล้วสามารถรอจนฟันแท้ขึ้นครบทุกซี่ได้ แต่ในกรณีที่เด็กมีฟันสบคร่อมผิดปกติ อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกร และทำให้ใบหน้าบิดเบี้ยวได้
2. ฟินน้ำนมไม่สำคัญรอฟันแท้ขึ้นมาก่อนก็ได้ เป็นความเข้าใจที่ผิดเนื่องจากฟันน้ำนมมีผลต่อลักษณะการขึ้นของฟันแท้เป็นอย่างมาก หากเด็กสูญเสียฝันน้ำนมก่อนวัยอันควร อาจทำให้ฟันแท้ขึ้นผิดที่ผิดทางได้ ทำให้การรักษาในอนาคตมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ประเภทเครื่องมือจัดฟันเด็ก
เครื่องมือจัดฟันจะแบ่งได้คร่าว ๆ เป็นเครื่องมือแบบถอดเข้าถอดออกได้และเครื่องมือแบบติดแน่น ซึ่งการเลือกใช้เครื่องมือทันตแพทย์จะพิจารณาจากปัญหาฟันของเด็ก และอีกเครื่องมือที่ใช้บ่อยจะเป็น “เครื่องมือขยายขากรรไกร” เครื่องมือนี้สามารถขยายขากรรไกรออกเพื่อแก้ไขปัญหาฟันสบคร่อมหรือขากรรไกรบนเล็กได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากปล่อยไว้จนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จะไม่สามารถแก้ไขด้วยการขยายขากรรไกรได้แล้ว ถ้าจะแก้ไขต้องใช้วิธีการที่ยุ่งยากมากขึ้นหรือต้องใช้การผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน
หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ และ การเตรียมตัว
เมื่อการจัดฟันไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงาม แต่คือการรักษาความผิดปกติของร่างกายและการเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้กับตัวของเด็กเองฟันซ้อนเค ฟันยื่น ฟันเหยิน ปัญหาเหล่านี้อาจดูไม่สำคัญเท่ากับความผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆแต่คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่าในบางกรณีเรื่องของฟันซี่เล็ก ๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ของเด็กได้ไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างเช่น
1. พัฒนาการการพูด การออกเสียง ยกตัวอย่างการออกเสียง “ฟอฝัน” หรือ “ร”หากตำแหน่งฟันที่ผิดปกติไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ เด็กอาจจะไม่สามารถออกเสียงที่ถูกต้องได้ ไปจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่
2. พัฒนาการทางร่างกาย ตำแหน่งฟันที่ผิดปกติ เช่น ฟันล่างคร่อมฟันบน อาจส่งผลให้ขากรรไกรไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ ทำให้ขากรรไกรเบี้ยว หรือคางยื่นในตอนโตยังไม่นับรวมไปถึงกรณีที่การสบฟันผิดปกติแล้วส่งผลกระทบต่อการบดเคี้ยว อาจทำให้เด็กรู้สึกไม่อยากทานอาหารและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายได้อีกด้วย
3. พัฒนาการด้านจิตใจ อาจไม่ได้ส่งผลทางตรงแต่ถ้าเด็กไม่ได้รู้สึกมั่นใจในฟันของตัวเองรู้สึกว่าตัวเองฟันยื่น ฟันห่าง หรือโดนเพื่อนล้อ และคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้แก้ไขปัญหาตรงจุดนั้น อาจส่งผลให้เด็กเติบโตไปเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้ายิ้ม ไม่กล้าแสดงออกได้ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นจากการสังเกต หากพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อย ก็สามารถพาลูกมาพบกับหมอฟันเด็กเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมในการรักษา เพื่อให้ลูกมีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ มีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ